ศูนย์บริการข้อมูลนกอินทนนท์ที่ร้านลุงแดง ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 31 หน่วยจัดการต้นน้ำแม่กลาง ให้บริการด้านข้อมูลนกในดอยอินทนนท์ เช่น สมุดบันทึกการพบนกในดอยอินทนนท์ ภาพวาดลายเส้นของนักดูนก แผนที่เส้นทางดูนกดอยอินทนนท์ ภาพถ่าย สไลด์เกี่ยวกับนก ฯลฯ ให้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ช่วงที่นักดูนกนิยมมาดูนกกันเป็นฤดูหนาว นอกจากจะได้พบนกประจำถิ่นแล้ว ยังสามารถพบนกอพยพ เช่น นกปากซ่อมดง นกอุ้มบาตร นกเด้าลมหลังเทา นกเด้าลมหลังเหลือง นกเด้าลมดง นกเด้าลมหัวเหลือง นกจาบปีกอ่อนเล็ก นกจาบปีกอ่อนหงอน นกจาบปีกอ่อนสีแดง นกเดินดงสีน้ำตาลแดง ฯลฯ ทางศูนย์ฯจะบริการให้คำแนะนำตลอดจนเป็นสถานที่พบปะสนทนาระหว่างนักดูนก นักศึกษาธรรมชาติและบุคคลทั่วไป เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ดีต่อการอนุรักษ์และรักษาสภาพธรรมชาติ ทำให้ทราบถึงแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของนกและสัตว์ป่าในดอยอินทนนท์ ให้คงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป ข้อมูลนก นกจาบคาเคราแดง Nyctyornis amictus (Red-bearded Bee-eater) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 32-35 เซ็นติเมตร หัวโต ปากโค้งดำ คอถึงอกตอนบนมีขนยาวสีแดงเหมือนมีเคราแดง ท้องเขียวแกม เหลืองมีขีดเขียวเข้ม หน้าผากและกระหม่อมสีม่วงแกมชมพูในนกตัวผู้ ส่วนนกตัวเมียจะมีหน้าผากสีแดงเช่นเดียวกับที่คอ ขนคลุมลำตัวส่วนที่เหลือ เป็นสีเขียวนกชนิดนี้มีญาติคือนกจาบคาเคราน้ำเงิน เหมือนนกจาบคาอื่นๆ นกจาบคาเคราแดงกินแมลงเป็นอาหาร โดยเฉพาะ ผึ้ง ต่อ และแตน โดยนกจะเกาะคอนซ่อนตัวระหว่างใบไม้ และบินออกไปจับเหยื่อกลางอากาศ โดยนกชนิดนี้มักหากินตัวเดียวหรือเป็นคู่มากกว่าเป็นฝูง นกจาบคาเคราแดง ทำรังในโพรงที่ขุดเข้าไปในตลิ่งข้างลำธารในป่าเช่นเดียวกับ นกจาบคาเคราน้ำเงิน โดยจะไม่ทำรังใกล้ๆกันหลายๆรังแบบพวก นกจาบคาเล็กๆอื่นๆ นกชนิดนี้อาศัยในป่าดิบจากที่ราบถึงความสูง 1500 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นนกประจำถิ่นภาคตะวันตกและภาคใต้ของไทย คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และบอร์เนียว สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่น ที่พบได้ค่อนข้างบ่อย |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น